54

ภญ.สิริญา อภิวงศ์


ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน สภาวะอากาศโดยทั่วไปจึงร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี โดยในช่วงฤดูร้อน (เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม) อุณหภูมิสูงสุดในตอนบ่าย ปกติจะสูงถึงเกือบ 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุดในรอบปี 


จากการจัดอันดับเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก ในเดือนเมษายน ปี 2562 พบว่าประเทศไทยร้อนเป็นอันดับ 5 ของโลก และอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายเราสูงมาก จนร่างกายอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ 

ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินกว่าที่ร่างกายจะทนได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ดังนี้ 


1) ผื่นผิวหนัง เกิดจากร่างกายขับเหงื่อออกมามากจนเกิดการอักเสบของรูขุมขน ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและเป็นตุ่มสีแดงหรือผื่นที่บริเวณหน้า ลำคอ หน้าอกส่วนบน ใต้ราวนม และขาหนีบ แนะนำให้อาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และทายาบริเวณที่เป็นผื่น  

2) บวมที่ข้อเท้า เกิดจากเส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ทำให้เกิดอาการบวมที่ขา โดยเฉพาะที่ข้อเท้า จึงควรพักผ่อนและนอน ยกขาสูง 

3) ตะคริวเกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวและเกร็งอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณขา แขน และท้อง ซึ่งพบในผู้ที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหนัก จนร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว นวดกล้ามเนื้อเบาๆ ประมาณ 1-2 นาที สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป 

4) เป็นลม เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่ออากาศที่ร้อนขึ้น เนื่องจากร่างกายพยายามขับความร้อนส่วนเกินออก โดยการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปที่ผิวหนังเป็นผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วขณะ ทำให้เป็นลมหมดสติได้ วิธีช่วยเหลือคือให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้น ใช้หมอนรองขาและเท้าสูงกว่าลำตัว พัดโบกลมให้ถูกหน้า ลำตัว และให้ดมยาหม่องหรือยาดมอื่นๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้ไปพบแพทย์

5) เพลียแดด สาเหตุสำคัญเกิดจากการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ที่สำคัญจำนวนมากไปกับเหงื่อเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ที่มีอาการเพลียแดดยังคงมีเหงื่อออก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และกระหายน้ำอย่างมาก หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว แต่ยังคงมีสติอยู่ วิธีช่วยเหลือคือให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูง ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ หากผู้ป่วยมีอุณหภูมิภายในร่างกายสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที และ 

6) โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นโรคที่รุนแรงมาก เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ อาการที่พบ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังแดง ร้อน เหงื่อไม่ออก สับสน หมดสติ และหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยคือพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือในรถที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือห้องที่มีความเย็น ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้ ข้อพับและขาหนีบ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว 


การป้องกัน

การดูแลตัวเองในหน้าร้อน คือ

- อย่าไปอยู่กลางแจ้งให้นานเกินไป ถ้ามีร่มก็สามารถใช้ร่มได้ 

- ดื่มน้ำให้มาก ๆ  

- หรือถ้าอยู่ในบ้าน พยายามเปิดประตู หน้าต่าง อย่าอยู่ในที่อับ อย่าอยู่ในห้องปิด การอยู่ในห้องปิดจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่ได้ แล้วเกิดความร้อนสะสม ทำให้เกิดฮีทสโตรกได้แม้อยู่ในบ้าน

- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่าออกไปอยู่กลางแดดนานเกินไป ถ้าจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง แนะนำว่าเราต้องหาเวลาเข้ามาอยู่ในที่ร่มบ้าง ถ้าเราอยู่กลางแดดนาน ๆ ก็จะเกิดฮีทสโตรกได้                  

ข้อควรระวังคือ อย่าทำให้ร่างกายขาดน้ำ เตรียมน้ำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อาจจะต้องเยอะกว่าในฤดูอื่น


แสงแดดกับผิว

ความร้อนและแสงแดด นอกจากจะส่งผลเสียต่างๆ ต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อผิวของเราด้วย เพราะแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่ส่งผลกระทบต่อผิวมากมาย ทั้งผิวไหม้ แสบ ลอก ฝ้า กระ จุดด่างดำ และริ้วรอย ซึ่งเป็นผลมาจากคอลลาเจนในชั้นผิวถูกทำลายนั่นเอง


คำแนะนำเกี่ยวกับการกินคอลลาเจน

- ตามคำแนะนำขององค์การอาหารและยาแนะนำว่าผู้ที่ต้องการกินคอลลาเจนเสริม สามารถกินเป็นอาหารเสริมได้ 5,000-7,000 มิลลิกรัม/วัน แต่ไม่ควรเกิน 10,000 มิลลิกรัม/วัน 

- ควรเลือกกินที่เป็นคอลลาเจนสายสั้น (Hydrolyzed collagen)เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าคอลลาเจนสายยาว โดยสังเกตที่ข้างกล่องผลิตภัณฑ์ตอนซื้อ

- ควรกินตอนท้องว่างแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ หรือกินควบคู่กับวิตามินซี เพื่อการดูดซึมที่ดี

ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมทั้งผิวและสุขภาพ สำหรับหน้าร้อนที่กำลังจะมาถึงนะคะ



อ้างอิง

1. กรมอุตุนิยมวิทยา.// (2563).//ภูมิอากาศของประเทศไทย.//สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2563,/จาก/ https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=22

2. นพ.กานต์ สุทธาพานิช.//(2562).// ฮีตสโตรกจากอากาศร้อน อันตรายถึงชีวิต

3. กรมอนามัย.//(2561).//เผย 6 อาการ ที่เกิดจากความร้อน พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเอง.//สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2563,/จาก/ https://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=11797

4. ภญ. ภิชาญดา จงนวรชัย.//(2561).//คอลลาเจน ใช้บำรุงผิว และรักษาโรคข้อเสื่อม.//สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2563,/จาก/ https://med.mahidol.ac.th/