3


อาการตาแห้งจากการใส่คอนแทคเลนส์พบได้บ่อย เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะดึงน้ำที่ตาเพื่อทำให้ตัวคอนแทคเลนส์เองสามารถคงความใสอยู่ได้ จึงทำให้ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่มีอาการตาแห้ง โดยจะรู้สึกฝืดตา เคือง ระคาย คล้ายมีเศษผงเข้าตา แสบร้อน บางรายมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวยืดเป็นเส้น ลักษณะเป็นเมือกสีขาว หรือสีเหลืองนวลมากกว่าปกติ บางรายอาจรู้สึกปวดหัวหรือปวดตา หากปล่อยให้เป็นบ่อยๆ อาจทำให้เป็นแผลกที่กระจกตา ผิวกระจกตาอักเสบ ในกรณีร้ายแรงอาจติดเชื้อจนทำให้ตาบอดได้


นอกจากการใส่คอนเทคเลนส์แล้ว การใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือ (สมาร์ทโฟน) แท็บเล็ต เป็นต้น ก็มีผลทำให้ตาแห้งมากขึ้น การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ หลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ส่งผลให้การสร้างน้ำตาลดลงได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมมีผลทำให้ตาแห้งได้ เช่น เจอสภาพอากาศแห้ง มีความชื้นในอากาศน้อย อยู่ในห้องแอร์มีอุณหภูมิเย็นแห้ง ปะทะลมหรือแสงแดดเป็นประจำ เป็นต้น จะทำให้น้ำตาระเหยได้ง่าย


การดูแลและป้องกัน

1. ลดระยะเวลาการใส่คอนแทคเลนส์ ไม่ควรใส่นานเกิน 8 ชั่วโมง 

2. เลือกคอนแทคเลนส์ที่มีค่าการซึมผ่านของออกซิเจนสูงๆ หากจำเป็นต้องใส่เป็นระยะเวลานานให้เลือกคอนแทคเลนส์ที่เป็นชนิด ซิลิโคนไฮโดรเจล ที่มีค่า Dk/t สูงกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดไฮโดรเจล (ค่า Dk/t หรือOxygen transmissibility หรือ ค่าการแพร่ผ่านออกซิเจน ที่ค่าสายตา -3.00 D เปรียบเทียบที่ความหนาของเลนส์ที่เท่าๆกัน โดยค่า Dk/t ยิ่งมากยิ่งดี)

3. เลือกใช้น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่มีสารให้ความชุ่มชื้นที่ยาวนาน เช่น ไฮยาลูรอน ทำให้คอนแทคเลนส์ชุ่มชื้นได้นานขึ้นกว่า 20 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานมากกว่า 8 ชั่วโมง

4. เลือกใช้น้ำตาเทียมสำหรับหยอดตาเมื่อใส่คอนแทคเลนส์ โดยน้ำตาเทียมจะใส่สารหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา สามารถหยอดตาเมื่อรู้สึกมีอาการตาแห้ง ระคายเคืองตา หรือหากมีอาการตาแห้งมาก ก่อนนอนสามารถใช้น้ำตาเทียมชนิดเจลหรือขี้ผึ้งซึ่งจะมีความเหนียวหนืด คงความชุ่มชื้นได้ดีกว่าน้ำตาเทียมชนิดน้ำ

5. หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแสงแดดและลม ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือลมแอร์เป่าใส่ดวงตา

6. ในระหว่างการทำงาน พักสายตาโดยการหลับตา กระพริบตาถี่ๆ ทุก ๆ 10 - 15 นาที หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ 2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง

7. นอนพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างการสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่


ในการใช้น้ำตาเทียม หลังจากเปิดใช้งานแล้ว ให้ดูตามชนิดของน้ำตาเทียมที่ใช้ หากใช้แบบไม่ใส่สารกันเสีย (Preservative free) จะใช้ได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังจากเปิดใช้งาน หากเป็นน้ำตาเทียมชนิดขวดจะมีอายุ 1 เดือนหลังจากการเปิดใช้งาน ส่วนน้ำตาเทียมชนิดเจลหรือขี้ผึ้งจะมีอายุ 3 เดือนหลังจากการเปิดใช้งาน ซึ่งหากใช้งานนานกว่าที่กำหนด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้ และไม่ใส่คอนแทคเลนส์นอน หรือใส่นานเกินอายุของเลนส์ ทั้งนี้หากมีอาการตาแห้งที่รุนแรงขี้น หรือมีอาการตามัว ตาแดง เจ็บตา ระคายเคืองมาก ควรหยุดใช้คอนแทคเลนส์และปรึกษาจักษุแพทย์ทันที


เอกสารอ้างอิง

1. โรคตาแห้ง : Dry Eyes. โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน. Retrieved on 24 Jun, 2024 from https://www.rutnin.com/th/eye_knowledge/detail.30.2.html 

2. อยากใส่คอนแทคเลนส์ จักษุแพทย์มาแนะนำ. รศ.อติพร ตวงทอง, นพ.สุวิช รัตนศิรินทรวุธ เรียบเรียง นศพ.ปิยาพัชร จารุนิภากุล. Retrieved on 24 Jun, 2024 from https://tmc.or.th/pdf/att-dn-202.pdf

3. ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ปลอดภัย. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. Retrieved on 24 Jun, 2024 from https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/contact-lens



อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ