23

ภญ.จิตประสงค์ หลำสะอาด


โปรตีนประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่ากรดอะมิโน ซึ่งโปรตีนจะช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยแหล่งของโปรตีนที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ ซึ่งโปรตีนเหล่านี้จัดเป็นโปรตีนสมบูรณ์ (complete protein) หมายถึงเป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน (กรดอะมิโนจำเป็นคือกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้นได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น) นอกจากโปรตีนจากสัตว์แล้ว พืชบางชนิดก็เป็นแหล่งของโปรตีนด้วยเช่นกัน แต่โปรตีนจากพืชนั้นจัดเป็นโปรตีนไม่สมบูรณ์ (incomplete protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนไม่ครบถ้วน) ตัวอย่างแหล่งโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว อย่างเต้าหู้ เครื่องดื่มจากถั่วเหลือง โอ๊ต ถั่วพิสทาชิโอ อัลมอนด์ ถั่วแระ ข้าวสาลีและธัญพืชต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากโปรตีนจากพืชจัดเป็นโปรตีนไม่สมบูรณ์เพราะขาดกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิด ดังนั้นการบริโภคโปรตีนจากพืชจากแหล่งที่หลากหลายจะมีโอกาสที่ร่างกายได้รับกรดอะมิโนที่ครบถ้วนมากกว่าการบริโภคโปรตีนจากพืชจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง


ปัจจุบันคนหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชกันมากขึ้น หากพูดถึงในแง่ของอาหารสุขภาพ โปรตีนจากพืชนั้นไม่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลเหมือนอย่างในเนื้อสัตว์ ซึ่งการบริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระยะยาวได้ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ในโปรตีนจากพืชยังเป็นแหล่งของสารไฟโตนิวเทรียนท์ (phytonutrients) รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่ไม่มีในโปรตีนจากสัตว์ รวมถึงใยอาหาร (fiber) ที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาในการย่อย ทำให้อิ่มนานขึ้น และยังช่วยปรับสมดุลลำไส้ได้อีกด้วย และโปรตีนจากพืชให้พลังงานต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนจากสัตว์ จึงเป็นอีกตัวเลือกของผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่เป็นมังสวิรัติ/เจ รวมถึงผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ


คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคโปรตีนจากพืช

1. บริโภคแหล่งของโปรตีนจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วน

2. ดื่มเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชในรูปแบบที่มีการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ รวมถึงเลือกรับประทานผักใบเขียวเพื่อให้ได้รับแคลเซียมอีกทางหนึ่ง

3. รับประทานซีเรียลรวมถึงธัญพืชที่มีการเสริมแร่ธาตุสังกะสีและธาตุเหล็ก เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุดังกล่าวอย่างเพียงพอ

4. รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินบี 12 เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดังกล่าว เพราะวิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ไม่พบในพืช ผัก หรือผลไม้ ดังนั้นการรับประทานมังสวิรัติ/เจ เป็นระยะเวลานาน ทำให้มีโอกาสขาดวิตามินบี 12 ได้เช่นกัน


เอกสารอ้างอิง

1. Dan Brennan, MD. 15 Nov 2021. The difference between animal protein and plant protein. https://www.webmd.com/diet/difference-between-animal-protein-plant-protein

2. T. Colin Campbell, PhD. 25 October 2022. Animal vs. Plant protein. https://nutritionstudies.org/animal-vs-plant-protein

3. พญ.สมกัญญา ตั้งสง่า ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. 3 ธันวาคม 2564. Plant-based protein เทรนด์ใหม่ของสายสุขภาพ. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/plant-based-protein-a-new-trend-in-the-health-sector



อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ