1.5 k


ภญ. ชนิดา จินดาสุข

ท้องผูกหมายถึงการที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายได้ง่ายและสม่ำเสมอ อาจมีอาการอึดอัด แน่นท้อง ต้องใช้แรงและระยะเวลานานกว่าปกติในการเบ่งอุจจาระออกมา อุจจาระมีปริมาณน้อยและลักษณะแข็ง เป็นก้อนหรือเป็นเม็ดแห้งๆ ผิวขรุขระ และในบางครั้งอาจทำให้เจ็บเวลาขับอุจจาระ อาการเหล่านี้แสดงถึงอาการท้องผูก ซึ่งพบได้บ่อยในปัจจุบัน

สาเหตุหลักของท้องผูกได้แก่

  1. พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่นรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่นอาหารจำพวกผัก ผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย กลั้นอุจจาระ รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย
  2. การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่นการเดินทางท่องเที่ยว อายุที่มากขึ้น หญิงตั้งครรภ์
  3. ยาบางชนิด เช่นแคลเซียม ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม ธาตุเหล็ก ยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของโคดิอีน ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาต้านการซึมเศร้า เป็นต้น
  4. ปัจจัยด้านสุขภาพอื่นๆ เช่นโรคลำไส้แปรปรวน การทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง

ท้องผูกส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ อาจทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมาได้ เช่นโรคริดสีดวงทวาร หรือทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น เป็นสาเหตุของไส้เลื่อนได้เป็นต้น

การป้องกันและรักษาอาการท้องผูกนั้น สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

  • การปรับพฤติกรรม โดยรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดื่มน้ำสะอาดวันละ 1.5-2 ลิตร รวมถึงเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้
  • ฝึกนิสัยการขับถ่าย โดยขับถ่ายให้เป็นเวลา ร่วมกับการใช้ท่านั่งที่เหมาะสมในการขับถ่าย
  • การใช้ยาระบาย ซึ่งมีหลายประเภททั้งแบบที่ใช้เมื่อมีอาการ เช่นยาระบายกลุ่มมะขามแขกและยาระบายชนิดสวน และยาระบายกลุ่มไฟเบอร์หรือกากใยอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ สามารถรับประทานเป็นประจำเพื่อป้องกันอาการท้องผูกได้ โดยต้องรับประทานน้ำตามหลังทานยาอย่างน้อย 1 แก้วเพื่อป้องกันอาการท้องอืด ถ่ายยาก และระมัดระวังการใช้ในคนที่มีประวัติลำไส้อุดตัน

เอกสารอ้างอิง

  1. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/constipation-treatment
  2. https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=29