3.5 k


ในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นในอากาศสูง เมื่อฝนตกมีน้ำท่วมขังตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หากไม่รักษาความสะอาดให้ดี อาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนังได้ง่ายๆ ซึ่งโรคผิวหนังที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน มีรายละเอียดดังนี้ 


1.โรคผื่นกุหลาบ (pityriasis rosea)

เป็นโรคผิวหนังที่มักพบในช่วงอายุ 10-35 ปี มีลักษณะเป็นผื่นสีชมพูอาจมีขอบยกขึ้นเล็กน้อย มีอาการคัน มักเกิดบริเวณลำตัว คอ หรือแขน บางรายมักมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ก่อนการเป็นผื่น ซึ่งสาเหตุยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจาก Picornavirus นอกจากนี้การรับประทานยาบางประเภทยังกระตุ้นทำให้เกิดผื่นได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Bismuth, Barbiturates captopril, clonidine, gold, Methoxypromazine, Metronidazole, D-penicillamine, Isotretinoin, Tripelennamine hydrochloride, ketotifen, labetalol และ salvarsan อาการมักจะหายไปได้เองใน 1-2 เดือน คำแนะนำในช่วงที่เป็นคือ การใช้สบู่อ่อนหรือสบู่เด็กในการทำความสะอาดร่างกาย สามารถใช้ยาแก้แพ้ทั้งชนิดรับประทานและชนิดทา และแนะนำให้ตากแดดในช่วง 10.00 น. เป็นเวลาวันละ 3-5 นาที เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณแสง UV-B สูง จะช่วยทำให้อาการผื่นกุหลาบดีขึ้น  


2.เชื้อราที่ผิวหนัง  

โรคเกลื้อน

ลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด ไม่มีอาการคัน พบบริเวณ คอ ลำตัว มักพบในคนที่เล่นกีฬา และมีเหงื่อมาก ใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น  


โรคกลาก

ลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย และลามออกไปเรื่อยๆ มีอาการคัน เกิดจากการที่ไม่รักษาความสะอาดร่างกายให้ดี  


การรักษา คือ ทายา หรือรับประทานยาฆ่าเชื้อรา และรักษาความสะอาดร่างกาย ไม่ใส่เสื้อผ้าอับชื้น และเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนา และรัดรูปจนเกิดไปเพราะจะทำให้อับชื้นได้ง่ายจนเกิดเป็นเชื้อรา 


3.ภูมิแพ้ผิวหนัง  

เกิดจากการที่อุณหภูมิหรือความชื้นเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ ซึ่งมักพบในบริเวณข้อพับ แขน ขา ซอกคอ ซึ่งจะเป็นผื่น แห้ง แดง ลอกได้ วิธีการดูแลตนเองคือทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอเพื่อให้ผิวเกิดความสมดุล เมื่ออาบน้ำเสร็จให้ทาโลชั่นหรือครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย ปราศจากน้ำหอม และสารระคายเคือง 


4.น้ำกัดเท้า 

เกิดได้กับบุคคลที่ในชีวิตประจำวันต้องสัมผัส แช่น้ำ ลุยน้ำ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เท้า เปื่อย ลอก มีแผล ติดเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย 


วิธีป้องกัน คือ ควรทำความสะอาดเท้าเมื่อเหยียบน้ำสกปรกน้ำขังตามทาง ใช้ถุงเท้ารองเท้าที่ซักสะอาด ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น


การรักษา หากยังเป็นในระยะแรกที่ยังไม่มีการติดเชื้อใดๆ ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เนื่องจากยังไม่มีการติดเชื้อ สามารถใช้ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ทาบริเวณที่เป็น ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแผลเปิด หากมีแผลเปิดควรรักษาความสะอาดแผลเปิดนั้นด้วยน้ำเกลือ และทายาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หากติดเชื้อราแล้วสามารถใช้ยาทาฆ่าเชื้อราบริเวณที่เป็น ซึ่งการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง