379


ตะคริว (cramp) คือภาวะที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึงห้านาทีหรือนานกว่านั้น เกิดภาวะปวดตึงและแข็งเป็นก้อนที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้น มักเกิดขึ้นตามกล้ามเนื้อน่องและต้นขา พบได้บ่อยในนักกีฬาที่ออกกำลังหนักหรือมากเกินไป ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ หรือผู้สูบบุหรี่จัด อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


สาเหตุของการเกิดตะคริว

มีได้หลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุที่พบบ่อย เช่น ตะคริวในนักกีฬาที่ออกกำลังกายหนักๆ เกิดการสูญเสียเกลือแร่ ร่างกายขาดน้ำหรือเสียเหงื่อมาก ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำ หรือตะคริวในหญิงตั้งครรภ์ที่ เกิดจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ หรือการไหลเวียนเลือดไปที่ขาไม่สะดวก ยังพบอาการตะคริวในผู้ป่วยบางรายที่เกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น หรือเกิดจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคของต่อมธัยรอยด์ ซีด น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคพาร์กินสัน ร่างกายขาดสารน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ยังทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้ง่าย นอกจากนี้การทำงานมากๆ จนเมื่อยล้า หรือนั่งขดแขนขาอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ก็อาจทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้เช่นกัน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงแขนขาได้สะดวก


เป็นตะคริวแล้วต้องทำอย่างไร

1. หยุดหรือพักการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว แล้วทำการนวดและยืดกล้ามเนื้อเบาๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว 

2. หากกล้ามเนื้อหดเกร็งมากๆ สามารถใช้การประคบร้อน หรือใช้ครีมบรรเทาปวดเมื่อยสูตรร้อนบรรเทาอาการได้ 

3. หากเป็นตะคริวจากการเสียเหงื่อ เช่น จากการเล่นกีฬา ให้รับประทานเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับเสียเหงื่อ หรือหากเป็นตะคริวจากอาการท้องเสีย หรืออาเจียน ให้รับประทาน ORS  


วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดตะคริว

1. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และฝึกยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ 

2. หากออกกำลังกายหนัก หรือยาวนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ควรจิบเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับเสียเหงื่อ 

3. พักผ่อนให้เพียงพอ 

4. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 

5. สามารถเสริมแร่ธาตุกลุ่มแมกนีเซียม แคลเซียม เพื่อป้องกันระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำ 

6. ทั้งนี้หากเป็นบ่อยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อหาสาเหตุ ตรวจเช็กว่ายาที่รับประทานอยู่ หรือโรคทางกายที่เป็น เป็นสาเหตุทำให้เกิดตะคริวหรือไม่ 




เอกสารอ้างอิง 

1. ผศ.นพ. วีรศักดิ์ เมืองไพศาล.//ตะคริว/สืบค้น 16 เมษายน 2564,//จาก https://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/knowledge_article/knowledge_healthy_7_010.html 

2. ปรภัต จูตระกูล.//”ตะคริว”อาการที่ไม่มีใครอยากเป็น/สืบค้น 16 เมษายน 2564,//จากhttps://www.thaihealth.or.th/Content/48168-%E2%80%98%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E2%80%99%20%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99.html 

3. รศ. นพ. พิสิฏฐ์ เลิศวานิช./(2021)//ตะคริวจากการออกกำลังกาย/สืบค้น 16 เมษายน 2564,//จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1450