84

อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่พื้นฐาน ตามปกติแล้วร่างกายคนเราควรได้รับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อทำให้ร่างกายมีพลังงานอย่างเพียงพอ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บป่วยต่างๆ โดยอาหาร 5 หมู่นั้นได้แก่ 

หมู่ 1 โปรตีน ( เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ) ให้พลังงาน เสริมสร้างให้ร่างกายเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

หมู่ 2 คาร์โบไฮเดรต ( ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน ) ให้พลังงาน ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

หมู่ 3 เกลือแร่หรือแร่ธาตุ ( พืชผัก ) ทำให้อวัยวะในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ

หมู่ 4 วิตามิน ( ผลไม้ ) บำรุงร่างกาย ป้องกันโรคต่างๆ และทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ

หมู่ 5 ไขมัน ( ไขมันจากพืชและสัตว์) ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย


 ซึ่งนอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังมีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางเพิ่มเติมในการรับประทานอาหารเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง


ควรรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้รวมไปถึง ถั่วและธัญพืช ควรที่จะเติมเต็มจานด้วนสัดส่วนกว่าครึ่ง  ด้วยผักที่มีสีสันสดใส เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลีม่วง เป็นต้น ซึ่งผักผลไม้หลากสีจะอุดมไปด้วยไฟโตเคมิคอลซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด แต่ในการเลือกผักผลไม้ควรเลือกที่ปลอดสารพิษ และล้างให้สะอาดก่อนบริโภค เพื่อจะได้รับประโยชน์จากอาหารอย่างสูงสุด 


ควรรับประทานแต่พอดี ไม่ตามใจปากจนเกินไป เพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลายชนิด

จากงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งกับโรคอ้วน กล่าวคือผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งทางเดินปัสสาวะ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งที่ไต มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ เป็นต้น ดังนั้นควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระหว่างค่า BMI 18.5-24 ซึ่งเป็นค่าปกติที่แนะนำในประชากรไทย


ควรจำกัดการรับประทานอาหารแปรรูป(Processed food) และเนื้อแดง(Red meat)

อาหารแปรรูปคืออาหารที่ถูกผ่านกระบวนการเพื่อถนอมอาหารโดยวิธีการต่างๆ เช่น การบ่ม การรมควัน การอบแห้ง และการอัดกระป๋อง ยกตัวอย่างอาหารแปรรูป เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น ส่วนเนื้อแดง หมายถึง เนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เป็นต้น  

ในปี 2015, องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีข้อสรุปว่า การรับประทานเนื้อแดงและอาหารแปรรูปจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ ดังนั้นควรจำกัดการรับประทานเนื้อแดงไม่เกินสัปดาห์ละ 500 กรัม หรือไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และรับประทานอาหารแปรรูปให้น้อยที่สุด โดยใช้เนื้อปลา สัตว์ปีก โปรตีนจากพืชให้พลังงานทดแทน


References

1.Oncologynutrition.org. 2021. Foods. [online] Available at: <https://www.oncologynutrition.org/on/erfc/healthy-nutrition-now/foods> [Accessed 7 April 2021].

2. www.cancer.ca. 2021. Why you should limit red meat and avoid processed meat - Canadian Canc. [online] Available at: <https://www.cancer.ca/en/prevention-and-screening/reduce-cancer-risk/make-healthy-choices/eat-well/limit-red-meat-and-avoid-processed-meat/?region=bc> [Accessed 7 April 2021].

3. Sirikul, S., 2021. กินดี...มีสุข (Nutrition). [online] Bknowledge.org. Available at: <http://www.bknowledge.org/link/page/health/files/32.html> [Accessed 7 April 2021].

4.Cancer.org. 2021. American Cancer Society Guideline for Diet and Physical Activity for Cancer Prevention. [online] Available at: <https://www.cancer.org/healthy/eat-healthy-get-active/acs-guidelines-nutrition-physical-activity-cancer-prevention.html> [Accessed 7 April 2021].