6.8 k

ภญ. ชนิดา จินดาสุข


การกินยาแก้ปวดนานๆ จะทำให้ดื้อยา และต้องหายาที่แรงกว่าขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความปวด


 

ไม่จริง ยาแก้ปวดไม่ได้ทำให้เกิดอาการดื้อยา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหายาที่แรงขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับอาการปวดชนิดเดิม ยาแก้ปวดแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดแต่ละระดับที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นอาการปวดทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ สามารถใช้ยาแก้ปวดชนิดที่มีขายตามร้านยาบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีอาการปวดร่วมกับอาการอักเสบ ควรเลือกยาชนิดที่บรรเทาอาการทั้งสองชนิดนี้ แต่ถ้ามีอาการปวดที่มากขึ้น เช่น ปวดศีรษะจากการเป็นมะเร็งในสมอง ยาแก้ปวดในร้านยาจะไม่สามารถบรรเทาอาการปวดนี้ได้ ต้องได้รับยาแก้ปวดชนิดที่มีในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น ก่อนใช้ยาแก้ปวดทุกครั้ง ควรได้รับการประเมินระดับอาการปวดจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อทำการเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วย 


ต้องกินยาแก้ปวดหลังอาหารเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะปวดท้อง


  

ไม่จริง ยาแก้ปวดมีหลายชนิด ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน อาการข้างเคียงก็แตกต่างกัน 

  • ยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล ช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวด ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้เมื่อมีอาการปวด โดยรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการไข้หรืออาการปวด โดยไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 5 วันเนื่องจากยามีฤทธิ์เป็นพิษต่อตับ
  • ยาแก้ปวดกลุ่มที่ช่วยลดอาการอักเสบ หรือที่เรียกกันว่ายากลุ่ม NSAIDs ยากลุ่มนี้ นอกจากจะบรรเทาอาการปวดแล้ว ยังสามารถลดการอักเสบทีเกิดขึ้นบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาการข้างเคียงที่สำคัญคือ ยากลุ่มนี้จะลดการสร้างเยื่อเมือกที่เคลือบกระเพาะอาหารไว้ จึงทำให้เมื่อรับประทานเป็นเวลานาน หรือทานตอนท้องว่าง จะทำให้กระตุ้นให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ จึงควรรับประทานยากลุ่มนี้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้นและรับประทานหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร 
  • ยาแก้ปวดทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่อาการข้างเคียงที่สำคัญคือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และง่วงนอน


ยาเเก้ปวดหัวไมเกรนสามารถใช้กับยาเเก้ปวดปกติได้


 

ไม่จริง ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน ออกฤทธิ์ที่หลอดเลือด ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนโดยเฉพาะ จึงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยาแก้ปวดศีรษะ หรือยาแก้ปวดประเภทอื่นๆ ได้ 


ถ้าเจ็บป่วยและต้องรักษาด้วยยาพาราเซตามอล ต้องกินครั้งละ 2 เม็ด


ไม่จริง การรับประทานยาพาราเซตามอล ให้ทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ โดยจำนวนยาพาราเซตามอลที่ใช้ขึ้นกับน้ำหนักตัว ตามตารางด้านล่าง

 


ถ้ารับประทานยามากเกินไป จะมีฤทธิ์เป็นพิษต่อตับ ดังนั้นข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอลคือ

  • ห้ามรับประทานยาติดต่อกันเกิน 5 วัน 
  • ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลเกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน 


กินยาเเก้ปวดกันไว้ก่อนที่จะปวดหัวจริงได้ และเมื่อโดนฝนต้องกินยาพาราดักไว้ก่อน




 

ไม่จริง ยาแก้ปวดลดไข้ ใช้เพื่อบรรเทาอาการ ไม่สามารถออกฤทธิ์เพื่อป้องกันได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถควรใช้เพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะหรือป้องกันไข้หลังจากโดนฝน วิธีการใช้ยาที่ถูกต้องคือ เมื่อเริ่มมีอาการปวด หรือเริ่มครั่นเนื้อครั่นตัว ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของอาการไข้ ให้รีบทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นแล้ว ป้องกันไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น ทั้งนี้ควรใช้วิธีการป้องกันตัวเองอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น หลังจากถูกฝน ควรรีบอาบน้ำสระผม ทำร่างกายให้อบอุ่น สำหรับอาการปวดศีรษะ ให้สังเกตว่า ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะคืออะไรแล้วหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น 


ยาแก้ปวดยิ่งกินเยอะยิ่งหายปวดเร็วขึ้น


ไม่จริง ยาแก้ปวด รวมถึงยาประเภทอื่นๆ จะมีขนาดที่เหมาะสมกับอาการต่างๆ ซึ่งถ้าทานมากเกินไป เช่น ถ้าต้องทาน 1 เม็ดแต่ทาน 2 เม็ด ก็ไม่ได้ทำให้ฤทธิ์ของยามากขึ้น ไม่ได้ทำให้หายเร็วขึ้น แต่กลับกัน อาการข้างเคียงต่างๆ ของยาจะเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนน้ำหนักตัว 45 กิโลกรัม ต้องทานยาพาราเซตามอลเพียง 1 เม็ดซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง การทานยา 2 เม็ดไม่ได้ทำให้ยาบรรเทาอาการปวดดีขึ้น แต่กลับจะเป็นพิษต่อตับมากขึ้น