152

เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว สภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคได้ง่ายและรวดเร็ว จึงขอเตือนประชาชนหากใครไม่อยากเจ็บป่วยก็ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองจาก 7 โรคฮิตที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนได้แก่


  1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบวกกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศชื้นช่วงฤดูฝนจะเป็นพาหะของโรคระบบทางเดินหายใจ มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคง่ายและเร็ว เพียงแค่ไอ จาม หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อก็ทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อเวลาไอ จาม หรือจะสวมหน้ากากอนามัยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่เราอาจจะไปสัมผัสมา หรือป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และที่สำคัญขอแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลด้วย ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ 2.เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี 3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมองไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง(รวมผู้ติดเชื้อ HIVที่มีอาการ) และ 7.ผู้ที่มีโรคอ้วน (น้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
  2. โรคเลปโตสไปโรซิส หรือฉี่หนู โรคนี้มีหนูและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ รวมทั้งสัตว์ป่า สัตว์ที่มีฟันแทะทั้งหลายเป็นพาหะ เชื้อเหล่านี้จะปะปนอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก อาการเด่นๆของโรคนี้คือ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 อาทิตย์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด ในกรณีที่เป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง จนกระทั่งตับวาย ไตวายได้ สำหรับผู้ที่มีไข้ไม่สูงมาก ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แต่ห้ามใช้แอสไพรินเด็ดขาด ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรหรือชาวสวนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง หากเดินย่ำน้ำที่ท่วมขัง หรือน้ำสกปรก ต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง
  3. โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการเดินลุยน้ำสกปรกนานๆ หรือการพักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังต้องลุยน้ำช่วงฝนตก เชื้อราจะทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลม คัน เมื่อเกาแผลจะแตกและมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมสูง แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรต้องหารองเท้าบูทมาสวมใส่ รีบล้างเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง หากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน ซอกนิ้วเท้าแดง มีขอบนูน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนทำให้เกิดโรแทรกซ้อน
  4. โรคไข้เลือดออก โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ หากถูกยุงกัดและได้รับเชื้อประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38.5-41 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก บางรายเบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน จากนั้นจะมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกหลังไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็น ปากเขียว บางรายมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ่ายเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อพบว่ามีอาการไข้ขึ้นสูง ห้ามทานยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น หมั่นเช็ดตัวและดื่มน้ำเพื่อลดไข้ หากไข้ยังสูงอยู่ควรรีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญควรกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงอย่างถูกวิธีด้วย
  5. โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่ลำไส้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และบี ยังสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียนประชาชนจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่สุกใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลาง
  6. โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้เยื่อแผ่นบางๆ ที่ครอบคลุมส่วนตาขาว ผลิตเมือกเพื่อเคลือบและหล่อเลี้ยงผิวของดวงตา เกิดการระคายเคือง เส้นเลือดบริเวณนั้นก็จะบวม เกิดการอักเสบ และทำให้ตาค่อยๆ แดงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลดลงซึ่งจะมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์ สำหรับคำแนะนำ ให้ระวังอย่าให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หากมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง หรือเยื่อตาอักเสบ
  7. โรคที่ได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ ในช่วงฝนตกน้ำท่วม อาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ซึ่งหากไม่ทันระวังก็อาจจะเป็นเหยื่อ และถูกสัตว์เหล่านี้กัด หรือต่อยได้ ฉะนั้นต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้าน จัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้สัตว์มีพิษมาอยู่อาศัย


อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานและสามารถรับมือกับโรคต่างๆ ที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ประชาชนควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง รู้จักออกกำลังกาย รักษาร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรงอยู่เสมอ และเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


6 โรค ที่มักจะมากับฤดูฝน 

  1. โรคจากไวรัส โรคจากไวรัสเป็นโรคฮิต ที่มักจะเกิดขึ้นในหน้าฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูฝน จะทำให้เป็นหวัดคัดจมูก และเกิดอาการไข้ รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดงเป็นต้น
  2. คอติดเชื้อ โรคต่อมาเป็นอาการคอติดเชื้อ โดยจะแสดงอาการเจ็บคอเป็นหลัก จากนั้นจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวอาจมีนํ้ามูกร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา เพื่อไม่ให้อาการเรื้อรัง
  3. ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ อาหารที่เรารับประทาน อาจได้รับเชื้ออีโคไลที่ปนเปื้อนในอาหารทำให้ลำไส้อักเสบติดเชื้อ จึงทำให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารตามมา โดยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
  4. ผิวหนังอักเสบ น้ำฝนที่ขังตามพื้นถนน เป็นแหล่งของเชื้อโรคหากโดนตัวเราจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อ เชื้อรา คันตุ่มหนองและฝีได้ ควรล้างมือ ล้างเท้าบ่อยๆ หลังจากกลับเข้าบ้าน
  5. โรคฉี่หนู เป็นโรคที่แพร่ระบาดได้ในพื้นที่ที่มีนํ้าขัง ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อโรคจากมูลหนูที่ขังในนํ้า ผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผล ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดตามตัว โดยเฉพาะน่อง และมีอาการเบื่ออาหาร อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้
  6. ไข้เลือดออก ยุงลายจะเพาะพันธุ์ได้ดี ในหน้าฝน หากใครมีไข้สูงมาก ไข้ไม่ยอมลด เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนเพลีย เซื่องซึมให้รีบไปพบแพทย์ โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นไข้เลือดออก เพราะโรคอาจจะมีอาการรุนแรงคือเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้


การป้องกันโรคในฤดูฝน ทำได้โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่น ๆ อยู่แล้ว ต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด


ภญ.สิริญา อภิวงศ์


อ้างอิง

http://www.petcharavejhospital.com/th/news-events