651

ตอนที่ 4 P-PAC สำหรับบุคคลทั่วไป

นอกจากการวิเคราะห์บุคคลภายในบริษัทแล้ว P-PAC ยังเปิดบริการให้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งกลายเป็นว่าเป็นลูกค้าภายนอกมากกว่าภายในองค์กรเสียอีก ปัจจุบันลูกค้าของ P-PAC มีตั้งแต่เด็กอายุสองสามเดือน ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่าง ๆ และมีแนวโน้มว่าจะมีลูกค้ากลุ่มบุคคลทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา


สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ประโยชน์ของการเข้าใจตัวเองทำให้เราไม่ยึดติดกับตัวตนมากเกินไป สามารถเปิดใจยอมรับผู้อื่นมากขึ้น และยังวางแผนชีวิตตนเองได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองที่นำบุตรหลานมาใช้บริการ ต้องการรู้จักวิธีดูแลบุตรหลาน กระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการได้เหมาะสมถูกต้อง บางคนอาจมีคำถามว่าอายุมากแล้วรู้ไปก็แก้ไขไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วการรู้จักตนเองนั้น อายุ 50 ปีก็ยังไม่สาย คนเราในแต่ละช่วง เวลาย่อมมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป วัยเด็กมีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน เมื่อเรียนจบประกอบอาชีพการงาน จากนั้นสร้างฐานะครอบครัว ทุกช่วงเวลาล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายชีวิตแตกต่างกันไป การรู้จักตนเองทำให้เราไม่ไขว้เขวไปตามสภาพแวดล้อม มีสมาธิอยู่กับทิศทางที่ชัดเจน


อาจารย์เหลียนได้เปรียบเทียบลักษณะบุคลิกภาพ และพฤติกรรมหลักของมนุษย์โดยใช้ลักษณะของนก 5 ประเภทเป็นตัวแทนบุคลิกหลัก ได้แก่


นกเหยี่ยว เน้นผลลัพธ์ ควบคุมเป้าหมาย ต้องการความชัดเจนตรงประเด็น

นกห่านป่า เน้นการทำตามมาตรฐาน มีความระมัดระวัง เคารพกติกา ใส่ใจในคุณภาพ และรายละเอียด

นกยูง เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ชอบแบ่งปัน ใส่ใจในภาพลักษณ์ มีชีวิตชีวา ชอบให้ความร่วมมือ

นกกระจอกเทศ เน้นการทำงานด้วยความอดทน ไม่ชอบบรรยากาศความขัดแย้ง มีความกลมเกลียว อ่อนโยน ให้ความร่วมมือกับทีม

นกแก้ว เน้นการปรับตัว และการบูรณาการข้อมูล ชอบการเปลี่ยนแปลง หลีกเลี่ยงการตัดสินใจในทันที


นกทั้ง 5 ชนิดเป็นสัญลักษณ์แนวโน้มในการแสดงออกเชิงพฤติกรรม แบ่งเป็นการกำหนดเป้าหมาย จุดยืน และคุณค่าของตัวตน วิธีการทำงาน การวางแผนการตัดสินใจ และการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น นกยูงมักจะเป็นผู้ริเริ่มเข้าไปแนะนำตัวเอง นกกระจอกเทศจะหลบมุมในงานเลี้ยง หรือนกแก้วจะสนุกสนานอารมณ์ดี ฯลฯ คนส่วนใหญ่จะมีนกตัวหลักและนกตัวรองประกอบ 1 - 4 ตัว เพิ่มความซับซ้อนในบุคลิกภาพ


การที่ผลวิเคราะห์ออกมาว่าเป็นประเภท “เหยี่ยว” นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเหนือกว่า “นกกระจอกเทศ” นกแต่ละประเภทนั้นเป็นเพียงตัวแทนบุคลิกของแต่ละคน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ว่าคนนั้นเก่งกว่าคนนี้ อย่างเพื่อนร่วมงานผมคนหนึ่งเป็นนกเหยี่ยวที่มีห่านป่าเป็นตัวรอง วิธีการทำงานของเพื่อนร่วมงานคนนี้จะมีทั้งจุดเด่นของเหยี่ยว คือมุ่งเป้าหมาย และจุดเด่นของนกห่านป่าคือสนใจเน้นคุณภาพทุกขั้นตอนรายละเอียด เป็นที่รู้กันว่าถ้าเจอหัวหน้างานลักษณะนี้ ลูกน้องประเภทเช้าชามเย็นชามอยู่ไม่ได้แน่ เพราะนอกจากต้องการผลลัพธ์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังติดตามความคืบหน้าของงานทุกขั้นตอนรายละเอียดอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญเมื่อมอบหมายงานที่หนึ่งให้ไปแล้ว ก็จะมีงานที่สองรออยู่ทันทีไม่ว่าท่านจะทำงานแรกเสร็จแล้ว หรือยังก็ตาม ดังนั้นการรับมือกับหัวหน้าประเภทนี้มีอยู่ทางเดียวคือต้องรวดเร็วฉับไว รีบส่งมอบงานให้เสร็จก่อนกำหนดได้ยิ่งดี


ลักษณะที่คล้าย ๆ กันนี้มีอยู่ในตัวของเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นพวก “นกห่านป่า” ที่มี “เหยี่ยว” เป็นบุคลิกรอง คนนี้ก็มุ่งผลลัพธ์ ลงรายละเอียดติดตามงานเหมือนกัน ต่างกันตรงที่เน้นเรื่องขั้นตอนการทำงานเป็นพิเศษ ถ้ามีหัวหน้าแบบนี้ขอให้คิด และปฏิบัติอย่างมีระบบ ที่สำคัญต้องขยันทุ่มเทกับการทำงาน

ในกรณีบุคลิกของ “นกกระจอกเทศ” ซึ่งโดดเด่นในเรื่องความอดทนสามารถทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อม หรืองานที่คุ้นเคย แต่ถ้าให้อยู่ในงานเลี้ยงที่ไม่มีคนรู้จัก หรือในกลุ่มเพื่อนใหม่พยายามปลีกตัวหามุมสงบ และสนุกสนานกับปาร์ตี้อย่างเงียบ ๆ ส่วนบุคลิกประเภท “นกแก้ว” จะต่างกันไป นกแก้วให้ความสนใจกับสิ่งใหม่ ๆ ชอบการเปลี่ยนแปลงและนกแก้วสามารถจะสนุกสนานไปกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเพิ่งเข้ากลุ่มเป็นครั้งแรกก็ตาม


ด้วยความแตกต่างในบุคลิกของแต่ละคนนี่เอง ที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง เป็นผลมาจากการไม่เข้าใจความคิดของกันและกัน ไม่รู้จักวิธีการสื่อสารระหว่างกัน ยกตัวอย่างลูกค้าสามีภรรยาคู่หนึ่ง ทั้งคู่แต่งงานกันมาหลายปี มีปัญหาความคิดเห็นไม่ลงรอยกันเป็นประจำ ฝ่ายชายเป็น “นกยูง” สนุกสนานเฮฮา มีเพื่อนฝูงมากมาย และชอบออกงานสังคมเป็นประจำ ขณะที่ฝ่ายภรรยาเป็น “นกกระจอกเทศ” ชอบอยู่อย่างสงบไม่ชอบออกงานสังคม ปัญหาเพียงเท่านี้ก็อาจสร้างความร้าวฉานให้กับชีวิตคู่ได้ การทำให้ทั้งคู่เข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่ายมากยิ่งขึ้น สามารถลดความขัดแย้งระหว่างกันได้ โดยอาศัยการปรับเข้าหากันคนละนิด ช่วยเสริมจุดอ่อนซึ่งกัน และกัน


อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นกรณีของคู่สมรสระหว่างนกแก้วกับเหยี่ยว ฝ่ายชายเป็นนกแก้ว โดยพื้นฐานแล้วจะไม่ชอบตอบคำถามแบบฟันธง เพราะไม่ต้องการผูกมัดกับคำตอบ อยากเหลือช่องว่างสำหรับการเปลี่ยนแปลงบ้าง ขณะที่ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นเหยี่ยวนั้นต้องการความชัดเจน กระชับตรงไปตรงมา ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงแค่การบอกเวลากลับบ้านก็อาจทำให้ผิดใจกันได้ เมื่อก่อนฝ่ายชายเวลาติดงานจะกลับบ้านช้า ฝ่ายภรรยาโทรมาถามก็จะตอบว่าเดี๋ยวกลับ ถามกี่ครั้งก็เดี๋ยวกลับ แต่บุคลิกของเหยี่ยวนั้นต้องการความชัดเจนไม่ชอบความคลุมเครือ เพียงแค่ตอบให้ได้ว่าดึกนั้นกี่โมงกันแน่จะได้ไม่ต้องคอย เมื่อรู้ปัญหา และช่วยกันปรับตัวเข้าหากันก็ทำให้ความขัดแย้งลดลง เดี๋ยวนี้ถ้าภรรยาถามว่าจะกลับเมื่อไหร่ฝ่ายชายจะตอบทันทีว่าไม่เกินทุ่มครึ่ง เพียงแค่นี้ชีวิตคู่ก็มีความสุขมากขึ้นแล้ว