78


โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่รู้จักกันในนามโรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านของร่างกายจากที่ปกติมีไว้ป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีร่างกาย กลับมาทำลายตัวเองโดยไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ข้อ หลอดเลือด ปอด หัวใจ ไตหรือแม้กระทั่งระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดความเสียหายและอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ถ้าการอักเสบนั้นรุนแรงเกินการควบคุม และเกิดที่อวัยวะที่สำคัญเช่นไตหรือระบบหลอดเลือด  


SLE ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถแพร่กระจายทางการสัมผัสระหว่างบุคคลได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค SLE ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลากหลายที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลของฮอร์โมน ความเครียด สภาพแวดล้อมหรือแม้กระทั่งยา จึงไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่สิ่งที่สามารถทำเพื่อลดโอกาสในการเป็นได้คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น แสงแดด ความเครียด หรือการใช้ยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคเช่นยากันชัก 


อาการของโรค SLE มีหลากหลาย เช่น ผื่นแดงตามลำตัว และผื่นแดงที่จมูกและแก้มหรือที่เรียกว่าผื่นผีเสื้อ การอักเสบของข้อต่าง ๆ ในร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไข้ และอาการอ่อนเพลีย ซึ่งความรุนแรงก็จะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ ถ้าอาการของโรครุนแรงไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำให้มีอวัยวะภายในอักเสบส่งผลให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไตวายที่จะมีอาการแสดงคือความดันโลหิตสูง มีโปรตีนและเลือดในปัสสาวะ มีอาการบวมที่เท้าทั้ง 2 ข้าง หรืออาการทางสมอง หลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น  

 

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรค SLE ให้หายขาดได้ ยาที่ใช้จะเป็นยาที่ลดอาการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยและแนะนำยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย แต่ถ้าตรวจเจอและทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะทำให้โรคเข้าสู่ภาวะสงบหรือไม่แสดงอาการได้ ทำให้สามารถผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแค่หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้อาการกำเริบเท่านั้น  

 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย SLE

• หลีกเลี่ยงแสงแดด และรังสียูวีที่ทำจะกระตุ้นทำให้อาการของโรคกำเริบ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม กลางแจ้ง เช่น อยู่กลางแสงแดดตอนกลางวันเป็นระยะเวลานาน เล่นน้ำทะเล ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรป้องกันรังสียูวีโดยการสวมเสื้อแขนยาว สวมหมวก ทาครีมกันแดด SPF50 ขึ้นไป ทานก่อนออกแดดอย่าง

น้อย 30 นาทีและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงถ้าออกแดดจัดเป็นเวลานาน  

• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องประเภทของกีฬา เพียงแค่หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด 

• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารเค็มและน้ำตาล รับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี เช่น นม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน  

• ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 

• เสริมความแข็งแรงของกระดูกด้วยการทานอาหารที่มีแคลเซียม

 

เอกสารอ้างอิง

1. Systemic Lupus Erythematosus (SLE), Center of Disease, Control and Prevention. 2022 July 

2. ข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก. โรคเอสแอลอีหรือลูปัส. Paediatric Rheumatology International Trials Organisation (PRINTO) and Rheumatology European Society (PRES). 2016  


อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ