44

โดย ภญ. จิตประสงค์ หลำสะอาด


ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) โดยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็น 20% จากประชากรทั้งหมด (ประมาณ 12.9 ล้านคน) และมีการคาดการณ์ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (super aged society) คือมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งวัยผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยตามอายุขัยสามารถเกิดขึ้นได้ก่อนอายุ 60 ปี และอาจส่งผลต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ มักพบการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะเบื่ออาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้ไม่หลากหลาย มีปัญหาของเรื่องเหงือกและฟัน ทำให้เคี้ยวอาหารได้ลำบาก การรับรู้รสอาหารเปลี่ยนไป ทำให้รับประทานอาหารไม่อร่อย เป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะกลืนลำบาก การดูดซึมอาหารลดลงเกิดการเสื่อมสภาพของผนังทางเดินอาหาร มีภาวะท้องอืดแน่นท้องทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร เป็นต้น 


ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้ผู้สูงอายุได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เช่น กล้ามเนื้อลดลงส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบ กระดูกเปราะกระดูกบาง ทำให้เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ภูมิคุ้มกันลดลง น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น 


ซึ่งการใช้อาหารทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 


ในผู้สูงอายุที่มีภาวะเบื่ออาหารหรือบริโภคอาหารได้ลดลง แต่ยังคงมีระบบการย่อยอาหารที่เป็นปกติ การใช้อาหารทางการแพทย์เพื่อดื่มเสริม สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาหารทางการแพทย์เป็นอาหารสูตรครบถ้วน (complete nutrition) มีสัดส่วนของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และส่วนใหญ่เป็นสูตรปราศจากน้ำตาลแลคโตส (lactose free) โดยในปัจจุบันอาหารทางการแพทย์มีหลากหลายชนิด ในที่นี้จะขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ  


1. อาหารทางการแพทย์สูตรมาตรฐาน (Balanced nutritional supplement formula) สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุที่สุขภาพดี แต่อาจเบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้ลดลง สามารถใช้ทดแทนอาหารมื้อหลักหรือดื่มเสริมระหว่างมื้อ


2. อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค (Disease specific formula) เป็นสูตรที่พัฒนาให้เหมาะสมกับสภาวะ

โรคของผู้ป่วยที่ทำให้ต้องจำกัดสารอาหารบางชนิด เช่น อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งสามารถ

ใช้ทดแทนอาหารมื้อหลักหรือดื่มเสริมระหว่างมื้อ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic 

Index; GI) ต่ำ (น้อยกว่า 50)


นอกจากนี้ มีงานวิจัยพบว่า โปรตีนเวย์ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน และยังมีอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคตับ โรคไตเรื้อรังระยะก่อนและหลังล้างไต รวมถึงอาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนและพลังงานสูง และเสริมภูมิคุ้มกัน ใช้สำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุแผลไฟไหม้ ผู้ป่วยมะเร็ง อีกด้วย


ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความต้องการสารอาหารเช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดขึ้น มีโอกาสทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งอาจทำให้มีสุขภาพที่แย่ลงได้ การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับวัยทั้งด้านของคุณภาพและปริมาณ ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค และยังสามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ 


ดังนั้น การดื่มเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้ลดลง เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลีบ ไปจนถึงภาวะทุพโภชนาการได้ 


เอกสารอ้างอิง

1. อนาคตของผู้สูงอายุไทย (no date) รายงานสุขภาพคนไทย. Available at: https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=155 (Accessed: 22 September 2023). 

2. ชวิศา แก้วอนันต์ (2561). โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ (Nutrition of the elderly). วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 12(2), 112-119. 

3. (No date) ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์. Available at: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1405 (Accessed: 22 September 2023).  




อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่

Website: https://exta.co.th/

LINE: @eXtaPlus (https://bit.ly/eXtaplus)

Instagram: instagram.com/extaplus

YouTube: youtube.com/eXtaHealthBeauty


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยาสามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ