127

ในฤดูหนาวของประเทศไทย เป็นช่วงที่อากาศเย็นและแห้ง ส่งผลให้เกิดปัญหาผิวแห้งขาดน้ำ หากผิวแห้งมาก ๆ อาจเป็นจุดกำเนิดของโรคผิวหนังต่าง ๆ ตามมาได้ โดยปกติคนเราควรมีปริมาณน้ำในผิวหนัง 20 - 35% ถ้าปริมาณน้ำลดลงน้อยกว่า 10% จะเกิดภาวะผิวแห้งขึ้น โดยผิวจะมีความยืดหยุ่นลดลงและมีลักษณะหยาบ เป็นขุย หรือถ้าหากผิวแห้งรุนแรง อาจแตกเป็นร่อง แดง คัน และเกิดผื่นผิวหนังอักเสบตามมาได้ในที่สุด


โดยสาเหตุของการเกิดผิวแห้ง นอกจากสภาวะแวดล้อม เช่น สภาพอากาศในฤดูหนาวที่อากาศเย็นและความชื้นในบรรยากาศจะลดลงมาก จนทำให้การสูญเสียน้ำออกจากผิวหนังเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ผิวหนังอักเสบจากความแห้ง ทั้งยังมีปัจจัยจาก พันธุกรรม ลักษณะผิวที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และปัจจัยจาก อายุ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น กลไกธรรมชาติที่ผิวหนังรักษาความชุ่มชื้นไว้จะลดน้อยลง ทำให้ต่อมไขมันและเซลล์ผิวหนังจะสร้างสารไขมันลดลง รวมถึงปัจจัยจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต ผู้ที่ชอบล้างมือบ่อย ๆ ฟอกตัวด้วยสบู่ที่เป็นด่างนาน ๆ ออกแดดประจำหรือทำงานกลางแจ้ง ทั้งสารเคมี แสงแดด ลม ความชื้นในบรรยากาศ จะมีอิทธิพลต่อการเสียน้ำออกจากผิวหนัง จนทำให้เกิดภาวะผิวหนังแห้ง


วิธีการป้องกันไม่ให้ผิวแห้งในฤดูหนาว

1. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด

2. ใช้สบู่ให้เหมาะสมกับสภาพผิวหนัง ควรเลือกสบู่ที่มีความเป็นกรดอ่อนอยู่ในระดับ pH 5.5

3. ทาครีมให้ความชุ่มชื้น ควรเลือกครีมที่มีส่วนผสมให้ความชุ่มชื้นได้ดี เช่น กลีเซอรีน (Glycerine) ซอบิทอล (Sorbitol) เซรามายด์ (Ceramide) ลาโนลิน (Lanolin) เชียบัตเตอร์ (Shea butter) ปิโตรลาทัม (Petrolatum) และน้ำมันชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันมะกอก (Olive oil) และโจโจ้บาออยล์ (Jojoba oil)

4. ทาครีมกันแดด

5. สวมเสื้อผ้าที่ให้ความสัมผัสนุ่ม ควรเลือกเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง

6. ดื่มน้ำให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วต่อวัน


หากผิวแห้ง ต้องทำอย่างไร วิธีรักษาเบื้องต้น คือ ควรอาบน้ำในอุณหภูมิปกติ ไม่อาบน้ำหรือแช่น้ำนานเป็นเวลานาน ทาโลชั่นบำรุงผิวหลังอาบน้ำในตอนเช้าและตอนเย็น โดยควรทาโลชั่นภายหลังการอาบน้ำและเช็ดตัวหมาด ๆ ในทันที หรือถ้าระหว่างวันรู้สึกว่าผิวแห้งก็สามารถทาโลชั่นเพิ่มได้ตลอด ควรเลือกใช้โลชั่นที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม สารกันเสียหรือมีสีเจือปนอยู่ เพราะอาจจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองกับผิวได้

ในกรณีที่มีผิวแห้งรุนแรง จนเกิดอาการแสบคัน แตก ลอกเป็นขุยหรือมีการอักเสบของผิวเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบของผิวหนังและยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อของผิวหนัง


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ


อ้างอิง

1. พญ. ชุดา รุจิธารณวงศ์ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. วิธีการดูแลผิวช่วงหน้าหนาว. Retrieved on November 3, 2022 from chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/1405_1.pdf

2. พญ.สัญชวัล วิทยากรฤกษ์ หน่วยผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ผิวแห้ง... ปัญหาที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม. Retrieved on November 3, 2022 from https://www.rama.mahidol.ac.th/th/knowledge_awareness_health/26dec2019-1601

3. ผศ.พญ.สุเพ็ญญา วโรทัย ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. เลือกมอยส์เจอร์ไรเซอร์อย่างไรให้เหมาะกับผิว. Retrieved on November 3, 2022 from https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=756