165


โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนเสียชีวิต ข้อมูลจาก WHO พบว่าในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลกปีละ 17.9 ล้านคน เทียบเป็น 32% จากการเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดหลอดเลือดในปี 2562 อยู่ที่ 43.7 คนต่อประชาชน 100,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 29.9 คน 


โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเรียกสั้นๆว่าโรคหัวใจ มีหลากหลายชนิด ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น หนึ่งในสาเหตุหลักของโรคหัวใจ คือการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจจากลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะภายในที่สำคัญได้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจตายนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด  


ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ได้แก่  

• การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันสูง ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน 

• การไม่ออกกำลังกาย 

• การสูบบุหรี่  

• การดื่มแอลกอฮอล์  

• โรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน  

• ความเครียด  

• พันธุกรรม  


เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จึงสำคัญมากโดยใช้หลักการดูแลสุขภาพองค์รวม ที่ประกอบด้วย 4 อ. ดังนี้  


อาหาร

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งที่สำคัญ ในการป้องกันตัวเองจากการเป็นโรคหัวใจ โดยควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ในแต่ละมื้อมีสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม  

• อาหารแต่ละมื้อ มีสัดส่วนของ ผัก: โปรตีน: คาร์โบไฮเดรต อยู่ที่ 2:1:1 ตามลำดับ  

• เลือกรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ในปริมาณที่พอเหมาะ  

• เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดตรเชิงซ้อน ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำให้ไม่หิวง่าย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต  

• จำกัดปริมาณโซเดียม ให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  

• จำกัดน้ำตาลให้ไม่เกิน 24 กรัมต่อวัน (ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ) รวมถึงน้ำตาลจากเครื่องดื่มต่างๆ  

• ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว  

• ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (BMI 18-23) เพื่อไม่ให้เป็นโรคอ้วน อีกหนี่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ 


ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะทำให้การทำงานของหัวใจเป็นปกติป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยสามารถแบ่งการออกกำลังกายเป็น 5 วัน วันละ 30 นาที หรือถ้ามีเวลามากขึ้น ก็อาจแบ่งเป็นครั้งละ 50 นาทีสัปดาห์ละ 3 วันเป็นอย่างน้อยก็ได้ ซึ่งการออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้หัวใจแข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอ้วน สาเหตุของโรคหัวใจได้อีกด้วย  


อากาศ

การอยู่ในที่ที่อากาศดี ถ่ายเทสะดวกก็ทำให้มีสุขภาพดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ ทำให้ร่างกายมีภาวะทางจมูก ผื่นผิวหนัง คันตา รวมถึงในระยะยาวยังทำให้เกิดโรคมะเร็งทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ยังทำให้สุขภาพจิตเสียเพราะร่างกายไม่แข็งแรง เสริมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ 


อารมณ์

อารมณ์ที่ดี ส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในร่างกาย ยับยั้งการหลั่ง Cortisol สารในร่างกายที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด การดูแลภาวะอารมณ์ของตัวเองให้สดใส รู้เท่าทันความโกรธและสามารถจัดการภาวะเครียดจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้  


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ

 

เอกสารอ้างอิง  

1. Cardiovascular diseases (CVDs). World Health Organization. 11 Jun 2021 

2. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2565. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุช