1.7 k


ท้องร่วง คือ อาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ้าหากมีอาการถ่ายมีมูกเลือดปนเพียงแค่ 1 ครั้งก็ถือว่าเป็นอาการของโรคท้องร่วงเช่นกัน นอกจากถ่ายเหลวแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดบิดเกร็งท้อง หรือมีไข้ร่วมด้วย  


สาเหตุของโรคท้องร่วงมีหลากหลาย ได้แก่ 

• การติดเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งมีได้ทั้งการติดเชื้อไวรัส เช่น Norovirus, Rotavirus ติดเชื้อแบคทีเรีย และการติดเชื้อโปรโตซัว 

• สารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย (Toxin) ที่เจือปนในอาหาร หรือที่เรียกว่าอาหารเป็นพิษ โดยนอกจากท้องร่วงแล้ว คนที่มีอาการอาหารเป็นพิษมักจะมีอาเจียนมากร่วมด้วย  

• ยาบางชนิด เช่น ยาระบาย ยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาอาการปวดข้อ Colchicine หรือยาลดน้ำตาลในเลือด Metformin เป็นต้น 

• อาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร หรือกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหาร เช่น อาหารรสจัด เป็นต้น

 

การรักษาอาการท้องร่วง

1. จิบเกลือแร่บ่อยๆ เมื่อมีอาการท้องร่วง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการชดเชยน้ำที่เสียไป ทั้งจากการอุจจาระและการอาเจียน โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ชนิดสำหรับท้องเสีย (ORS) ละลายในน้ำและจิบบ่อยๆ แทนน้ำ เมื่อมีอาการถ่ายเหลว หรืออาเจียน  

2. รับประทานยาที่มีฤทธิ์ดูดซับ ที่ช่วยดูดซับสารพิษและทำให้อุจจาระแข็งขึ้น ช่วยลดความถี่ของการถ่ายเหลว เช่น Dioctahedral smectite, ผงถ่าน activated charcoal เป็นต้น 

3. สามารถใช้ยาบรรเทาอาการอื่นๆ เช่น ยาลดอาการปวดบิดเกร็งท้อง ยาแก้อาเจียน รวมถึงยาที่ช่วยบรรเทาอาการและลดความถี่ในการถ่ายเหลว โดยสามารถหาได้จากร้านขายยา และต้องได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนการใช้ยา เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด 

4. สามารถใช้โพรไบโอติกส์เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงได้ โดยมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิภาพของการใช้โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ Lactobacillus rhamnosus GG และ Saccharomyces boulardii สำหรับบรรเทาอาการท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก 

 

ทำความรู้จักกับโพรไบโอติกส์ 

โพรไบโอติกส์ คือจุลินทรีย์มีชีวิต ที่ก่อประโยชน์ในร่างกายมนุษย์ โดยการช่วยสร้างสมดุลเชื้อในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีอีกคำที่มักจะมาพร้อมกับโพรไบโอติกส์ คือ “พรีไบโอติกส์” ซึ่งก็คือ น้ำตาลฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ ร่วมถึงองค์ประอบอื่นๆ ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในลำไส้ ทำหน้าที่เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์  


ในปัจจุบันมีการนำโพรไบโอติกส์มาใช้เสริมฤทธิ์ในการรักษาโรคหลายชนิดอย่างแพร่หลาย ได้แก่ โรคท้องร่วงเฉียบพลัน ท้องร่วงจากการใช้ยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังเริ่มมีการนำโพรไบโอติกส์มาใช้กับโรคอื่นมากขึ้น เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ และลำไส้แปรปรวน  


จุลินทรีย์ที่จัดว่าเป็นโพรไบโอติกส์มีหลากหลายสายพันธุ์ที่มีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป หาซื้อได้ง่าย อยู่ในรูปแบบหลากหลายทั้งในรูปแบบอาหารประเภทโยเกิร์ต นมเปรี้ยว รูปแบบยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  


หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ


เอกสารอ้างอิง

1. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา et al. ข้อแนะนำในการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันสำหรับเภสัชกรชุมชน. ว.เภสัชศาสตร์อีสาน ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 ต.ค.-ธ.ค. 2561.  

2. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก พ.ศ. 2562 

3. Maria Kechagia et.al. Health Benefits of Probiotics: A Review. ISRN Nutrition. Vol. 23. 2013