64

ภญ ชนิดา จินดาสุข


เมื่อเดือนเมษายนได้วนกลับมาอีกครั้ง นอกจากเทศกาลสงกรานต์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงก็คือลมร้อนของเดือนเมษา ซึ่งหน้าร้อนไม่ได้ก็มาพร้อมกับลมร้อนเท่านั้น แต่ยังพาโรคหลายชนิดมาพร้อมกับลมร้อนนี้ด้วย ซึ่งโรคที่เราควรระวังในหน้าร้อน ได้แก่โรคดังต่อไปนี้ค่ะ


ลมแดดหรือฮีทสโตรก

คือสภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมากจนไม่สามารถปรับตัวได้ เกิดเนื่องจากการตากแดดกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ปวดศีรษะ หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว อาจมีสภาวะขาดน้ำจากการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมาก พูดจากสับสน ชัก และหมดสติ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย ส่งผลให้เสียชีวิตได้ 

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดได้แก่ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งหรืออยู่กลางแจ้งนานๆ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอ้วน และผู้ที่ดื่มเหล้าจัด 

เมื่อผู้ป่วยเป็นลมแดด ควรนำตัวเข้ามาในที่ร่ม เย็น และอากาศถ่ายเทสะดวก ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม และลดอุณหภูมิร่างกายโดยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด โดยเฉพาะที่ศีรษะ ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ร่วมกับการพัดเป่าด้วยพัดลมไอเย็น ทั้งนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีความรู้สึกตัวหรือการหายใจที่ผิดปกติ ให้รีบโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ในขณะที่รอรถพยาบาล ควรปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นลมแดดตามวิธีการด้านต้นด้วย 

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือสถานที่ที่ร้อนจัด อยู่ในที่ที่มีการถ่ายเทของอากาศ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี รวมถึงดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และดื่มบ่อยๆเมื่ออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูง เพื่อป้องกันการขาดน้ำ 


ท้องเสีย

อากาศร้อนและชื้น ทำให้เชื้อโรคมีการเจริญเติบโตได้ดี ทำให้อาหารบูดเน่าเสียได้ง่าย มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ และอาการท้องร่วง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการ ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร อาจทำให้มีมูก เลือดปนกับอุจจาระ เมื่อมีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรจิบผงน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ สามารถรับประทานผงถ่านดูดซับสารพิษควบคู่กันได้ ถ้ามีอาการอื่นๆเช่นปวดบิดเกร็งท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงอุจจาระมีกลิ่นคาวปลา มีมูกหรือเลือดปน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมในขั้นถัดไป 


โรคผิวหนัง

อากาศที่ร้อนทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติเพื่อระบายความร้อน ซึ่งเหงื่อเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังเช่น โรคผดผื่น ที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เกิดผื่นแดง ในบริเวณหน้าอก ลำคอ รวมถึงแผ่นหลัง เกิดมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนไม่ดี การป้องกันทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยการใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาว รวมถึงใช้ครีมกันแดด ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี นอกจากนี้เหงื่อยังก่อให้เกิดการติดเชื้อราบนผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ จึงควรทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเพื่อป้องกันผดผื่นคัน และการเกิดเชื้อราเนื่องจากความอับชื้นจากเหงื่อ 


นอกจากนี้ แสงแดดในหน้าร้อน ยังทำให้ผิวหนังแดง ไหม้ ระคายเคืองและก่อให้เกิดริ้วรอย จึงควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำก่อนออกแดดทั้งใบหน้าและลำตัว และหลังจากออกแดด สามารถมอยซ์เจอร์ไรเซอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการที่ผิวหนังแดง ไหม้ จากการเผชิญแสงแดดเป็นระยะเวลานาน