14.8 k

ยาลดกรด


ยาลดกรดในท้องตลาดมีหลากหลายชนิด ทั้งชนิดเม็ด ชนิดยาน้ำแขวนตะกอน และชนิดผงชงละลายน้ำ โดยสามารถแบ่งประเภทยาลดกรดตามความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เป็นสองประเภท ได้แก่


1. ยาลดกรดชนิดดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหาร ได้แก่ยาสูตรผสมระหว่างอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ มีทั้งแบบเม็ดและแบบยาน้ำแขวนตะกอน ซึ่งแบบน้ำแขวนตะกอนจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดเม็ด

2. ยาลดกรดชนิดดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ได้แก่ตัวยาโซเดียมไบคาร์บอเนต สามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น มีทั้งแบบน้ำ และแบบผงฟู่ละลายน้ำ เหมาะสำหรับการบรรเทาอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร และอาการอื่นๆเนื่องจากกรดเกิน แต่ไม่เหมาะกับการใช้เป็นประจำ เนื่องจากอาจทำให้เลือดและปัสสาวะมีความเป็นด่างมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ยาลดกรดชนิดผงฟู่ยังสามารถบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลมในทางเดินอาหารได้


ยาลดกรด สามารถยับยั้งการดูดซึม และลดประสิทธิภาพของยาตัวอื่นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา จึงควรรับประทานยาลดกรดห่างจากยาตัวอื่น อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เมื่อมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย หรือแสบท้องติดต่อกันเกิน 3 เดือน, เมื่อรับประทานยาติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์และอาการยังไม่ดีขึ้น, เมื่อมีการระคายเคืองทางเดินอาหารมากจนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ การกลืนอาหาร, เมื่อมีอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ และหน้าอก เสียงแหบ ไอเรื้อรัง และน้ำหนักตัวลดอย่างกระทันหันและไม่ทราบสาเหตุ