13.3 k


ยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills, Morning-After Pills) คือยาที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือในสถานการณ์ที่เกิดข้อผิดพลาดจากการคุมกำเนิดประเภทอื่นทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น ถุงยางอนามัยแตก ห่วงอนามัยหลุด ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดเกิน 3 วัน เป็นต้น  


ยาคุมฉุกเฉินมีส่วนประกอบสำคัญคือ ฮอร์โมน levonorgestrel ในขนาดสูง ที่ช่วยยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ในเพศหญิง จึงลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ ยาคุมฉุกเฉินในท้องตลาดมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งมีความแรงต่อเม็ดแตกต่างกัน จึงทำให้มีวิธีใช้แตกต่างกันดังนี้  

• ชนิด 1 เม็ดต่อกล่อง มียา levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด รับประทาน 1 เม็ดครั้งเดียวหลังจากมีเพศสัมพันธ์ทันที หรือไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 

• ชนิด 2 เม็ดต่อกล่อง มียา levonorgestrel 0.75 มิลลิกรัมต่อเม็ด รับประทาน 1 เม็ดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ทันที หรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเม็ดที่สองรับประทานหลังจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง  


ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรับประทานยาเม็ดแรก โดยถ้ารับประทานยาหลังมีเพศสัมพันธ์ทันที จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 90% และประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถป้องกันได้ ถ้าหากทานยาเม็ดแรกช้าเกิน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ความอ้วนยังส่งผลลดประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉิน โดยผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 30 จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่า 

 

อาการข้างเคียงจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาคุมฉุกเฉินได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะพบมากขึ้นเมื่อใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดรับประทานเม็ดเดียวเนื่องจากยามีความแรงมาก อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่พบได้แก่ ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยมากระปริบกระปรอยหรือมามากกว่าปกติ ประจำเดือนเลื่อน ปวดท้องน้อย ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ตึงเต้านม  

นอกจากนี้การรับประทานยาคุมฉุกเฉินที่มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุมดลูก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ 

 

คำแนะนำในการใช้ยาคุมฉุกเฉินและการคุมกำเนิด 

ยาคุมฉุกเฉินควรใช้เมื่อฉุกเฉิน ไม่ควรใช้เป็นประจำ หรือใช้ทดแทนยาเม็ดคุมกำเนิดเนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่า และเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงได้มาก โดยรับประทานได้ไม่เกิน 1 ครั้ง (1 กล่อง) ต่อสัปดาห์ และไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน และใช้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น  


ถ้ามีเพศสัมพันธ์ซ้ำหลังจากใช้ยาคุมฉุกเฉินเกิน 24 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ทั้งนี้ถ้าหากทานยาคุมฉุกเฉินซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง และลดประสิทธิภาพของยา ดังนั้นควรใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่นการใช้ถุงยางอนามัยแทน  


ทั้งนี้ การใช้ยาคุมฉุกเฉิน ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ต้องใช้ถุงยางอนามัยเท่านั้น  

ถ้าต้องการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรับประทานเป็นประจำ สามารถเริ่มทานได้ทันทีหลังจากใช้ยาคุมฉุกเฉิน และควรใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 14 วันแรกหลังเริ่มยาเพื่อรอให้ยาเม็ดคุมกำเนิดออกฤทธิ์ 

 

เอกสารอ้างอิง 

1. WHO. Emergency contraception. Fact sheet, updated 9 November 2021. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/emergency-contraception 

2. Kristina Gemzell-Danielson et al., Emergency contraception – mechanisms of action. Contraception. 2013 Mar;87(3):300-8. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23114735/#:~:text=The%20main%20mechanism%20of%20action,LNG%20is%20no%20longer%20effective

3. ดร.ภญ.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คลังความรู้ คณะเภสัชกศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99/