78

ปัญหาหมอกควันและค่าฝุ่นละออง 2.5 เกินมาตรฐาน เป็นสิ่งที่พบได้เป็นประจำในช่วงหน้าหนาวจากความกดอากาศที่สูงขึ้น ทำให้เกิดสภาวะอากาศปิด อากาศไหลเวียนไม่ดีจึงมีการกักเก็บฝุ่น ควันและมลภาวะต่างๆ ไว้ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากเกินกว่าที่ขนจมูกของมนุษย์จะสามารถกรองฝุ่นชนิดนี้ ป้องกันไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย ทั้งโรคในระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ รวมถึงโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดในสมอง 


เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงจากปัญหาสุขภาพดังกล่าว การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งจากภายในและภายนอกจึงมีความสำคัญมาก บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพกันค่ะ  

 

การป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอก คือการลดโอกาสในการเข้าสู่ร่างกายของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีหลากหลายวิธีได้แก่ 

1. เลือกอยู่ในสถานที่ในร่ม ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่น รวมถึงเลือกใช้เครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5  

2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดโอกาสการสูดดมฝุ่น PM 2.5 

3. ใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ได้แก่ หน้ากากอนามัย N95 และหน้ากากอื่นๆ ที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เช่น KF94, KN95 เป็นต้น 

4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เมื่อมีอาการระคายเคือง คันจมูก คัดแน่นจมูก รวมถึงเมื่อมีน้ำมูกในโพรงจมูก เนื่องจากสามารถชะล้างสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูกได้  

5. เมื่อมีอาการระคายเคืองตา สามารถล้างตาด้วยน้ำเกลือรวมถึงหยอดตาด้วยน้ำตาเทียม เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ลดอาการตาแห้ง บรรเทาอาการระคายเคืองตาจากฝุ่นละออง  

6. รีบทำความสะอาดร่างกายหลังกลับถึงบ้าน เพื่อชำระฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมที่ผิวหนัง นอกจากนั้นควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวเป็นประจำเพื่อป้องกันผิวแห้ง อีกหนึ่งสาเหตุของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ  

7. ตรวจสอบคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ก่อนวางแผนทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกครั้ง  

8. เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น คันจมูก คัดแน่นจมูก น้ำมูกไหล คันตา มีผื่นคันที่ผิวหนัง สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้แนะนำยาเพื่อบรรเทาอาการ 

9. ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจแน่นติดขัด ปวดหรือมึนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หรือตาพร่ามัว ให้รีบพบแพทย์ทันที 

 

การป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอก คือการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เสริมภูมิต้านทานเพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคที่ไม่พึงประสงค์จากฝุ่น PM 2.5 ได้แก่  

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย 

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา 

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ  

5. หลีกเลี่ยงและรู้จักกับการจัดการความเครียด  

6. รับประทานวิตามินและอาหารเสริมช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เช่น วิตามินดี วิตามินอี ธาตุสังกะสี โอเมก้า 3 และวิตามินซี ที่ลดสารต้านอนุมูลอิสระ อีกหนึ่งสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงโรคในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ  




 

เอกสารอ้างอิง 

1. Chatchai Nokdee. แนะวิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นละออง PM 2.5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. 10 มีนาคม 2564. Retrieved on November 1, 2021 from https://www.thaihealth.or.th/Content/54272-แนะวิธีดูแลตัวเองให้ปลอดภัย%20จากฝุ่นละออง%20PM%202.5.html

2. กรมควบคุมโรค กสธ. การป้องกันตนเองจากหมอกควันและฝุ่นละออง. 8 ตุลาคม 2562. Retrieved on November 1, 2021 from http://doh.hpc.go.th/bs/issueDisplay.php?id=285&category=A52&issue=PM%202.5 

3. ผศ.พ.ต.ต.พญ.นพรัตน์ ธรรมศิริ. อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ. Retrieved on November 1, 2021 from https://www.thaipediatrics.org/Media/media-20210714070501.pdf 

4. ทิพย์อัมพร เอี่ยมสอาด. ทำไมฤดูหนาวจึงมาพร้อมกับฝุ่น. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ. Retrieved on November 1, 2021 from https://www.nsm.or.th/other-service/664-online-science/knowledge-inventory/sci-article/sci-article-science-museum/4761-winter-and-pm25.html 

5. Hira Shakoor et al. Immune-boosting role of vitamins D, C, E, zinc, selenium and omega-3 fatty acids: Could they help against COVID-19?. Elsevier Public Health Emergency Collection.2021 Jan; 143: 1-9. Retrieved on November 1, 2021 from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7415215/ 

6. How to boost your immune system. Harvard Health Publishing. Harvard Medical School. February 15, 2021. Retrieved on November 1, 2021 from https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/is-your-medication-making-you-lightheaded