1.3 k

โรคไอบีเอส (IBS) ย่อมาจาก Irritable Bowel Syndrome หรือโรคลำไส้แปรปรวน เป็นการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ 


สาเหตุอาจเกิดจาก

- ลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากการหลั่งสาร serotonin ที่ผิดปกติไป

- ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารเผ็ด อาหารหรือผลไม้รสเปรี้ยว

- มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ เช่น เครียด หดหู่ ซึมเศร้า

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน คือ

- ปวดเกร็งท้อง โดยเฉพาะที่ท้องน้อย โดยอาการปวดจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระ

- อาจท้องเสีย หรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก

- อยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ รู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด

- อุจจาระเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็ง หรือเหลวจนเป็นน้ำ มีลมมากเวลาถ่าย


การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคลำไส้แปรปรวน

- หากมีอาการท้องผูก ควรปรับเปลี่ยนอาหาร เน้นการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง หรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่มีไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำวันละ 1.5-2 ลิตร หากท้องผูกมากอาจต้องพิจารณาใช้ยาระบายกลุ่ม osmotic laxative (ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา)

- หากมีอาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของมะขามแขก หากท้องเสียมากอาจต้องพิจารณาให้ยาหยุดถ่าย (ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา)

- สำหรับอาการปวดเกร็งท้อง สามารถรับประทาน Peppermint oil (menthol) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง ท้องอืดแน่น ขับลม หรือรับประทานตัวยา Simethicone ซึ่งจะช่วยลดแก๊สในทางเดินอาหาร หรือหากปวดท้องมากอาจต้องรับประทานยาเพื่อลดอาการปวดเกร็งท้อง (ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา)

การป้องกันการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน


เราพบว่าอาการลำไส้แปรปรวน มักเกิดหลังรับประทานอาหาร หรือเมื่อมีภาวะเครียด ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน เราควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง และนม ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง รับประทานอาหารแต่น้อยในแต่ละมื้อ อย่ารับประทานจนอิ่มจุกมากจนเกินไป และที่สำคัญควรทำจิตใจให้สดชื่นผ่องใส หาวิธีระบายความเครียดอย่างเหมาะ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวนกลับมากำเริบอีกนั่นเอง