169


ความอยากอาหารที่เพิ่มมากขึ้นก่อนมีประจำเดือนจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่เรียกว่า Premenstrual Syndrome หรือ PMS ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่ผู้หญิงถึง 90% เคยมีอาการใดอาการหนึ่งจาก PMS ได้แก่ สิว อึดอัดแน่นท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย เจ็บแน่นหน้าอก อารมณ์แปรปรวน รวมถึงมีความอยากอาหารที่เพิ่มมากขึ้น 


การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนก่อนมีประจำเดือน ส่งผลให้มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล ที่ช่วยบรรเทาความอ่อนเพลียและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นจากภาวะ PMS อีกด้วย จากการที่แป้งและน้ำตาลจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารแห่งความสุขหรือ serotonin ที่ช่วยในการปรับอารมณ์ 

ความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลในระยะยาวต่อร่างกายได้ การรับมือกับอาการนี้มีหลากหลายวิธี ได้แก่

• สังเกตอาการและปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละช่วงของรอบเดือน อาจมีการจดรายละเอียดอาหารที่รับประทานในแต่ละวันทำให้มีข้อมูลเปรียบเทียบได้ชัดเจนมากขึ้น 

• เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เลือกทานโยเกิร์ตหรือน้ำผักผลไม้แทนชานมไข่มุก เลือกทานผลไม้หรือถั่วแทนขนมหวาน เลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาว เป็นต้น การเคี้ยวหมากฝรั่ง (เลือกสูตรที่ไม่มีน้ำตาล) หรือการจิบชา จิบน้ำเย็นสามารถลดความอยากอาหารได้ 

• หากิจกรรมที่ชอบทำ สามารถช่วยดึงความสนใจจากการรับประทานอาหาร ลดความเครียด อ่อนเพลียและทำให้อารมณ์ดีขึ้น เช่น นวด นั่งสมาธิ ทำโยคะ 

• ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง โดยเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและให้คนรอบข้างคอยเตือนหรือพาไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดความอยากอาหารที่เกิดขึ้น 

• ปรึกษานักโภชนาการ, แพทย์ หรือเภสัชกรถ้าหากความอยากอาหารมีมากขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ 


References

• Jayne Leonard. Is compulsive eating before a period normal?. Medical News Today. October 11, 2011. Retrieved from https://www.medicalnewstoday.com/articles/323317#prevention