6.0 k

เมื่อลมหนาวผ่านไป ลมร้อนก็ได้กลับมาทักทายเราอีกครั้ง ซึ่งหน้าร้อนไม่ได้ก็มาพร้อมกับลมร้อนเท่านั้น แต่ยังพาโรคหลายชนิดมาพร้อมกับลมร้อนนี้ด้วย ซึ่งโรคที่เราควรระวังในหน้าร้อน ได้แก่โรคดังต่อไปนี้ค่ะ


ท้องเสีย

อากาศร้อนและชื้น ทำให้เชื้อโรคมีการเจริญเติบโตได้ดี ทำให้อาหารบูดเน่าเสียได้ง่าย มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ และอาการท้องร่วง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการ ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร อาจทำให้มีมูกเลือดปนกับอุจจาระ 


การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการท้องเสีย

1. จิบผงน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ โดยเลือกผงน้ำตาลเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสียโดยเฉพาะ จะป้องกันอาการขาดน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ที่สามารถเกิดอาการช็อคจากภาวะขาดน้ำได้มากกว่าคนปกติ

2. รับประทานผงถ่าน หรือยาที่มีฤทธิ์ในการดูดซับที่จะช่วยดูดซับสารพิษจากเชื้อโรค และยังทำให้อุจจาระแข็งขึ้น ช่วยลดความถี่ในการถ่ายอุจจาระ

3. รับประทาน probiotics หรือแบคทีเรียชนิดที่ดี ที่มีอยู่ในนมเปรี้ยว โยเกิร์ต รวมถึงอยู่ในรูปแบบเม็ดและผงชงน้ำพร้อมรับประทาน ที่จะช่วยปรับสมดุลในลำไส้ ลดโอกาสในการเกิดอาการท้องเสีย

4. ถ้ามีอาการอื่นๆ เช่น ปวดบิดเกร็งท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงอุจจาระมีกลิ่นคาวปลา มีมูกหรือเลือดปน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมในขั้นถัดไป 


การป้องกันตัวเองจากการท้องเสีย

รับประทานอาการที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง รวมถึงเลือกดื่มน้ำและน้ำแข็งจากแหล่งที่สะอาด รวมถึงล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งด้วยค่ะ 


ผดร้อน

อากาศที่ร้อนทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติเพื่อระบายความร้อน ซึ่งเหงื่อเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังเช่น โรคผดผื่นที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เกิดผื่นแดง ในบริเวณหน้าอก ลำคอ รวมถึงแผ่นหลัง เกิดมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนไม่ดี 


การดูแลตัวเองเมื่อเป็นผดร้อน

1. รับประทานยาแก้แพ้ จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ผิวหนังและอาการคันได้

2. ทายาทาแก้แพ้ หรือคาลาไมน์โลชั่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันและผื่น

การป้องกันตัวจากการเป็นผดร้อน

หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยการใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาว รวมถึงใช้ครีมกันแดด ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี 


เชื้อราที่ผิวหนัง

อากาศที่ร้อนทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติเพื่อระบายความร้อน ซึ่งเหงื่อสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อราบนผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ อาจทำให้เกิดโรคกลาก เกลื้อน ทำให้มีอาการคันและผิวหนังเปลี่ยนสี ดูไม่น่ามอง


การดูแลตัวเองเมื่อเป็นเชื้อราที่ผิวหนัง

1. ทายาครีมฆ่าเชื้อราบริเวณที่เป็นวันละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหายสนิทและทาต่อเนื่องอีก 14 วันเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

2. ฟอกผิวหนังด้วยแชมพูฆ่าเชื้อรานาน 5 นาทีแล้วล้างออกในขณะอาบน้ำ 

การป้องกันตัวเองจากเชื้อราที่ผิวหนัง

1. ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเพื่อป้องกันผดผื่นคัน และการเกิดเชื้อราเนื่องจากความอับชื้นจากเหงื่อ 

2. ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี 


ลมแดดหรือฮีทสโตรก

คือสภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมากจนไม่สามารถปรับตัวได้ เกิดเนื่องจากการตากแดดกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ปวดศีรษะ หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว อาจมีสภาวะขาดน้ำจากการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมาก พูดจากสับสน ชัก และหมดสติ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย ส่งผลให้เสียชีวิตได้ 

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดด ได้แก่ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งหรืออยู่กลางแจ้งนานๆ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอ้วน และผู้ที่ดื่มเหล้าจัด 


การดูแลเมื่อเป็นลมแดด

เมื่อผู้ป่วยเป็นลมแดด ควรนำตัวเข้ามาในที่ร่ม เย็น และอากาศถ่ายเทสะดวก ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม และลดอุณหภูมิร่างกายโดยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด โดยเฉพาะที่ศีรษะ ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ร่วมกับการพัดเป่าด้วยพัดลมไอเย็น ทั้งนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีความรู้สึกตัวหรือการหายใจที่ผิดปกติ ให้รีบโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ในขณะที่รอรถพยาบาล ควรปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นลมแดดตามวิธีการข้างต้นด้วย 


การป้องกันตัวเองจากการเป็นลมแดด

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือสถานที่ที่ร้อนจัด อยู่ในที่ที่มีการถ่ายเทของอากาศ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี รวมถึงดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และดื่มบ่อยๆ เมื่ออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูง เพื่อป้องกันการขาดน้ำ