68


โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder หรือ SAD) คือการมีอารมณ์เศร้าสะเทือนใจมากกว่าปกติในบางฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูที่มีแสงแดดน้อย เช่น ฤดูฝน และฤดูหนาว ในวันที่ฝนตกหนัก หรือเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว คนทั่วไปอาจมีความรู้สึกซึมได้เมื่อสภาพอากาศมืดมัว ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีพลังงานลดลง เหนื่อยหน่ายหดหู่ 


โรค SAD ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระดับของแสงอาทิตย์นี้ สัมพันธ์กับ "เมลาโทนิน" ซึ่งเป็นฮอร์โมนในสมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยในช่วงกลางคืนจะมีการผลิตเมลาโทนินในระดับสูง ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดภาวะซึมเศร้า 


คำแนะนำหากรู้สึกว่ามีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล


1. ช่วงกลางวันที่มีแดด แนะนำให้พยายามออกไปรับแสงแดดให้มาก หากหนาวเกินไปที่จะเดินออกไปนอกอาคารหรือนอกออฟฟิศก็ให้เปิดหน้าต่างให้มากที่สุด หรือนั่งติดหน้าต่าง เพื่อให้สายตาได้รับแสงแดด 


2. อาหารที่ควรรับประทาน  


กล้วยหอม เพราะกล้วยหอมช่วยลดการเกิดอาการซึมเศร้าได้ เนื่องจากมีสารทริปโตแฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนให้เป็นสารเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้ผ่อนคลาย มีความสุข นอกจากนี้ยังมีวิตามินบีที่สูง ช่วยในการทำงานของระบบประสาท และสมอง 

ปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดอาการซึมเศร้า และทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย 


3. การออกกำลังกายช่วยลดความวิตกกังวล ความเครียด และยังเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ พอเหงื่อออกก็กระตุ้นการทำงานของร่างกายให้กระฉับกระเฉง จึงลดภาวะเฉื่อยชา ซึมเศร้า 


4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลต่อการทำงานของสมอง 


5. หลีกเลี่ยงการรับความรู้สึกเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการชมภาพยนต์ที่โศกเศร้า หรือฟังดนตรีที่เศร้า ให้เลือกชมภาพยนตร์ที่สนุกสนาน และฟังเพลงที่ทำให้สบายใจ 

 

อ้างอิง

1. ห้องสมุดโรงพยาบาลศรีธัญญา.//(2547).//โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล.//สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2563,/จาก https://www.dmh.go.th/sty_lib/news/depression/view.asp?id=11 

2. คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.//โรคซึมเศร้า.//สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2563,/จาก http://www.student.chula.ac.th/~59370812/